การจัดแบ่งประเภทไม้

Last updated: 23 ก.ย. 2564  |  950 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประตูไม้สัก กองไม้สักเรียงกัน

การจัดแบ่งประเภทไม้

เพื่อให้ตรงกับความเข้าใจพื้นฐานและการนำการใช้งานจริง จึงได้มีการแบ่งไม้ออกเป็น 3 ประเภท โดยถือเอาค่าความแข็งแรงในการดัดของไม้แห้ง และความทนทานตามธรรมชาติของไม้ชนิดนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ได้แก่

- ไม้เนื้ออ่อน มีความแข็งแรงต่ำกว่า 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมากเนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว ใช้งานง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือค่อนข้างซีด เนื่องจากเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อนจึงไม่นิยมนำมาใช้ทำประตูเพราะจะเกิดการบิด งอ ได้ง่าย เช่นไม้ยาง ไม้ฉำฉา ซึ่งมักใช้กับงานตกแต่งมากกว่า แต่ปัจจุบันได้มีการนำเข้าไม้เนื้ออ่อนจากต่างประเทศโดยใช้ทำเป็นประตูและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เนื่องจากไม้เนื้ออ่อนที่เติบโตในประเทศเขตหนาวนั้นจะมีการเจริญเติบโตช้า เนื้อไม้จึงแน่นและแข็งแรงพอที่จะใช้งานได้ ไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศและนิยมใช้ทำเป็นประตูได้แก่ ไม้สน ไม้จำปา 

- ไม้เนื้อแข็ง มีความแข็งแรง 600 ถึง 1000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีมีการเจริญเติบโตช้ากว่าไม้เนื้ออ่อนจึงทำให้มีวงปีมากกว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปีจึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้จะมีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน ไม้ที่นิยมนำมาทำประตูคือ ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่

- ไม้เนื้อแกร่ง มีความแข็งแรงสูงกว่า 1000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก จึงทำให้วงประจำปีถี่กว่าและมีลายไม้ละเอียดสวยงามมากกว่าไม้สองชนิดแรก และควรมีอายุประมาณ 60-70 ปีขึ้นไปจึงสามารถนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มอมแดง น้ำหนักไม่มากแต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักใช้ในการก่อสร้างหรือเป็นโครงสร้าง เช่น คาน ตง เสา ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำประตูเนื่องจากมีความแข็งทำให้ตัดไส ได้ยาก และมีน้ำหนักมาก แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายที่จำหน่ายประตูไม้ชนิดนี้โดยมักใช้ในกรณีที่เป็นบานใหญ่พิเศษเพราะจะบิด งอได้ยาก  หรือใช้ภายนอกจึงต้องการไม้ที่มีความทนทานสูงเป็นพิเศษ โดยไม้เนื้อแข็งที่มักใช้ทำประตูได้แก่ ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พยูง


Application: ประเภทของบานประตูไม้ สำหรับการนำไปใช้งาน

ประตูไม้จริง สามารถใช้เป็นประตูภายนอกได้เนื่องจากสามารถโดนน้ำ โดนแดดได้บ้าง แต่ไม่ควรใช้ในส่วนที่มีความชื้นตลอดเวลา เช่น ห้องน้ำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ที่สำคัญควรเลือกเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับประตูไม้ที่มีการอบหรืออาบน้ำยากำจัดปลวกมาก่อน ทั้งบานประตูและวงกบไม้ ซึ่งโดยส่วนมาจะเกิดปัญหาปลวกกัดกินบริเวณวงกบนี่แหละครับ

สาเหตุที่ไม้พองหรือหดตัว

โดยปกติแล้วไม้จะมีการปรับความชื้นในตัวให้สมดุลกับสภาพความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณความชื้นที่วัดได้นี้เรียกว่า ความชื้นสมดุล (Equilibrium Moisture Content – EMC) เพราะฉะนั้นก่อนนำไม้มาใช้งานจึงต้องมีการปรับความชื้นสมดุลของไม้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการพองหรือหดตัว ค่าความชื้นสมดุลของประเทศไทยอยู่ที่ + 10- 15 %

หากความชื้นของไม้มากกว่าความชื้นในบรรยากาศ ไม้จะคายความชื้นในเนื้อไม้ออกมาและส่งผลให้ไม้หดตัว ในทางกลับกัน หากไม้มีความชื้นน้อยกว่าความชื้นในบรยากาศ ไม้จะทำการดูดความชื้นโดยรอบเข้าไปในเนื้อไม้ ส่งผลให้ไม้เกิดอาการบวม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝน 

   Size: ขนาด

ขนาดมาตรฐานของบานประตูไม้ ที่นิยมนำมาใช้งาน

1.70 x 200 cm., 70 x 180 cm. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องน้ำ หรือ ห้องซักล้าง)

2.80 x 200 cm., 90 x 200 cm. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องทั่วไป)

3.90 x 200 cm., 100 x 200 cm. (สำหรับใช้เป็นประตูบานเดี่ยวหน้าบ้าน หรือ บานทั่วไป)

ประตูไม้สัก (Teak Wood Door​)

ประตูไม้สักเป็น เป็นประตูไม้ที่มีความนิยมใช้เป็นประตูบ้านอันดับต้นๆ เนื่องจากความเชื่อของคนไทยนั้นเชื่อว่า ไม้สักเป็นไม้ที่มีความเป็นสิริมงคล คนไทยในสมัยก่อนนั้นนิยมใช้ไม้สักมาสร้างเป็นบ้านทั้งหลัง ใช้ทำเป็นประตู-หน้าต่าง ทั้งยังใช้ทำเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย คุรสมบัติของไม้สักนั้นเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำเป็นประตูมากที่สุด เนื่องจากไม้มีความคงทนแข็งแรงพอสมควรเนื่องจากมีความชื้นในเนื้อไม้ค่อนข้างน้อยทำให้มีการ บิด โก่ง งอ ไม่มาก ในขณะเดียวกันก็มีความอ่อนเพียงพอที่จะแกะสลัก ตัด ไส บาก ได้ง่าย ที่สำคัญคือเมื่อไม้สักมีอายุมากขึ้นจะผลิตน้ำมันธรรมชาติซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ปลวกไม่ชอบ ทำให้หมดปัญหาเรื่องปลวกและแมลงต่างๆไม้สักนั้นยังแบ่งได้อีกหลายประเภท เช่น สักขี้ควาย สักหิน สักไข สักหยวก และสักทองซึ่งเป็นสักที่นิยมนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมมากที่สุด

ไม้สักทองเป็นไม้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก อันเนื่องมาจากเนี้อไม้มีคุณภาพสูง เป็นไม้ที่มีสีสันและลวดลายธรรมชาติที่งดงาม ไม้สักชนิดหนึ่งสี่ของเนี้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลเหลืองทอง และมีลวดลายสีดำ เนื้อไม้ของไม้สักค่อนข้างที่จะละเอียด เนื้อไม้มีเสี้ยนตรง น้ำหนักเบา ทำให้ง่ายต่อการเลื่อย ไส และตบแต่ง แต่ก็มีความแข็งแรงพอสมควร ในบรรดาไม้สักทั้ง 5 ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" หรือ "Queen of Timbers" เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทย

ข้อดีของประตูไม้สัก

1.ประตูไม้สักมีลวดลายที่สวยงาม

2.ไม้สักมีผิวสัมผัสที่ละเอียดสวยงาม

3.ประตูไม้สักมีความแข็งแรงทนทานกว่าไม้ชนิดอื่น ในขณะเดียวกันเนื้อไม้ก็ยังมีความนิ่มสามารถแปรรูปได้ง่าย

4.ประตูไม้สักไม่มีปัญหาเรื่องปลวก เพราะไม้สักที่มีอายุมากจะผลิตน้ำมันสักที่ปลวก และแมลงต่างๆ ไม่ชอบออกมา (นอกจากไม้สักที่ทำมาจากไม้สักป่าปลูกจึงจะไม่สามารถผลิตน้ำมันสักได้)

5.ประตูไม้สัก ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

ข้อเสียของประตูไม้สัก

1.พื้นผิวไม้สักจะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย

2.ไม้สักจะบิดตัว และงอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ

3.ช่างฝีมือที่มีความชำนาญในงานไม้ โดยเฉพาะงานไม้สักในปัจจุบันนั้นหายาก ถ้าหากได้ช่างไม่ดีอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
** ที่มา web.ku.ac.th
 
ไม้สักที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ในจ.แพร่ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่...

1. ไม้สักเรือนเก่า...เป็นไม้สักที่คุณภาพดีที่สุด ไม่หดตัว ลายไม้สวย มีแกนไม้เยอะ สีน้ำตาลเข้ม เป็นไม้จากบ้านเรือนหรือส่ิงก่อสร้างอื่นที่ปลูกสร้างไว้เป็นนานแล้ว โดยนำไม้จากส่วนประกอบต่างๆของบ้านหรือสิ่งก่อสร้างดังกล่าว มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ใหม่ครับ เช่น ตู้ เตียง ประตู หน้าต่าง ฯลฯ

2. ไม้สักออป. "ออป." ย่อมาจาก "องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้" ชาวบ้านที่จ.แพร่ เรียกว่า "ไม้ ออป." หรือ "ไม้ อป." เป็นไม้สักที่มีคุณภาพรองจากไม้เรือนเก่า...มีความแกร่งของเนื้อไม้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปลูกในสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขา อัตราการหดตัวมีน้อยกว่าไม้สัก นส. อายุไม้สักออป.ที่ตัดมาใช้งาน ประมาณ 25 ปี ขึ้นไป และหากอายุไม้มากกว่า 40 ขึ้นไป จะเรียกว่า "ไม้ซุง" เนื่องจากจะมีขนาดลำต้นใหญ่

3. ไม้สัก นส. "นส." ย่อมาจาก "หนังสือแสดงสิทธิทำกิน" หรือ นส.3 นั่นเองชาวบ้านที่จ.แพร่ จะเรียกว่า "ไม้นส." เป็นไม้สักที่มีคุณภาพต่ำที่สุด ปลูกในป่า/สวน/พื้นที่ราบทั่วไป เป็นไม้ที่มีความแกร่งของเนื้อไม้น้อย อัตราการหดตัวมีมากกว่าไม้สักออป. อายุไม้สักนส.ที่ตัดมาใช้งานไม่แน่นอน แล้วแต่อายุการตัดไม้ของเจ้าของสวน ซึ่งส่วนใหญ่จะตัดขายเมื่อไม้มีอายุ 10 ปีขึ้นไป

***ซึ่งทั้งไม้ออป.และไม้นส. จะต้องนำมาปรับปรุงคุณภาพก่อนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้แก่ การอบ การพึ่งแดด การแช่น้ำ การย่าง เป็นต้น เพื่อป้องกันการหดตัวและการบิดงอของไม้ บางคนก็จัดประเภทไม้เป็นเกรดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเลือกครับ เช่น A+, A , B , B+ , C ซึ่งการจัดเกรดไม้ส่่วนใหญ่จะใช้อายุของไม้เพื่อจัดแบ่งเกรด รองลงไปเป็นการใช้ลายเนื้อไม้และตำหนิของไม้เพื่อจัดแบ่งเกรด โดยการจัดเกรดไม้ของแต่ละโรงงานแต่ละร้าน จะไม่เหมือนกันนะครับ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับปรุงคุณภาพไม้มากกว่าครับ เพราะหากไม่มีการปรับปรุงคุณภาพไม้หรือทำให้ไม้แห้งก่อนนำมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ ถึงจะจัดเป็นเกรด A ก็จะมีปัญหาไม้แตก หดหรือบิดงอ ตามมาทีหลังได้ครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้